ลำไส้แปรปรวน ภาวะที่เป็นปัญหาต่อระบบขับถ่าย

ผู้หญิงถือม้วนกระดาษทิชชูและมีอาการปวดท้องในบริเวณลำไส้

ลำไส้แปรปรวน ภาวะที่เป็นปัญหาต่อระบบขับถ่าย

      ลำไส้แปรปรวน เป็นภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของลำไส้ใหญ่ที่พบได้มากถึง 10–20% ของประชากรทั่วโลก โดยผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า โรคลำไส้แปรปรวน อาการไม่ได้รุนแรงเหมือนโรคอื่นๆ สามารถรักษาให้หายได้ แต่ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรม รวมถึงการทานยาควบคู่กันไปด้วย ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่รุนแรง แต่ก็อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้

โรคลำไส้แปรปรวน หรือ IBS คือโรคอะไร ?

      โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome; IBS) คือ ภาวะการทำงานผิดปกติเรื้อรังของลำไส้ ทำให้ลำไส้บีบตัวมากเกินไป ส่งผลทำให้เกิดอาการ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประจำวันของผู้ป่วย  โดยมักพบตั้งแต่อายุน้อยถึงวัยกลางคน และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการของโรคลำไส้แปรปรวนประกอบด้วยอาการหลัก คือ ปวดท้องเรื้อรัง หรืออึดอัดท้อง โดยมีลักษณะอาการสัมพันธ์กับการขับถ่ายอุจจาระที่เปลี่ยนไป ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุอื่นๆ

สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน

      โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง และไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถบอกสาเหตุของโรคนี้ได้อย่างแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากสาเหตุดังนี้

1. การบีบตัวผิดปกติของลำไส้ใหญ่ หรืออาจเรียกว่าตะคริว ทำให้ลำไส้เกร็งตัวผิดปกติ (spastic colon) เกิดการบีบตัวอย่างรุนแรงจึงทำให้เกิดการปวดเกร็งลำไส้

2. ภาวะไวต่ออาหาร หรือภาวะย่อยอาหารบางอย่างได้ไม่ดี เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากแพ้อาหาร หรือไวต่ออาหาร การจดบันทึกอาหารที่รับประทานอาจจะช่วยบอกถึงอาหารที่แพ้ได้

3. ลำไส้ไวต่อความรู้สึกมากเกินไป เป็นความผิดปกติที่ไม่ได้มีโรค หรือการบีบตัวผิดปกติใดๆ แต่ลำไส้ไวต่อความรู้สึกมากเกินไป

4. ความเครียดหรือภาวะทางจิตเวช เพราะภาวะเครียด กังวลใจ ทำให้ลำไส้รับความรู้สึกไวขึ้น เกิดการปวดท้องขึ้นได้

5. เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินอาหารและการติดเชื้ออื่นๆ โดยมักพบอาการภายหลังจากมีการติดเชื้อ เช่น เชื้อไข้รากสาด หรือ เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ แต่กลไกที่ทำให้เกิดภาวะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด

6. เกิดจากการใช้ยาบางชนิด

โรคลำไส้แปรปรวน มีอาการอย่างไร ?

      อาการของโรคลำไส้แปรปรวนมักพบตั้งแต่อายุน้อย โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยอาการที่พบ ได้แก่ 

1. มีลักษณะการขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม ถือเป็นลักษณะพิเศษที่อาจช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ เช่น มีท้องเสีย ท้องผูก หรือ มีสลับท้องเสียและท้องผูกก็ได้ โรคนี้อาจมีอาการที่แบ่งเป็นท้องเสียเด่นชัดกว่า (diarrhea predominant IBS) หรือท้องผูกเด่นชัดกว่า (constipation dominant IBS)

2. ท้องเสียมักมีอาการช่วงกลางวันหรือช่วงเวลาทำงาน และมักเป็นในช่วงเช้าหรือหลังทานอาหาร อาการท้องเสียในภาวะนี้มักมีอาการร่วมคือ รีบอยากเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่าย มักรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีมูกเวลาขับถ่าย

3. ท้องผูกอาจมีอาการเป็นวัน หรือเป็นเดือน อุจจาระมีลักษณะแข็งคล้ายลูกกระสุน บางคนอาจมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมดร่วมด้วย ทำให้ต้องเบ่งถ่าย หรือนั่งถ่ายอุจจาระอยู่นานไม่ออก ทำให้บางคนต้องใช้ยาระบาย หรือ สวนถ่ายบ่อยๆ

4. ปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วง 3 เดือน มักเป็นลักษณะบีบเกร็ง หรืออาจเป็นแบบอื่น เช่น ตื้อๆ หนักๆ อึดอัด มักปวดบริเวณท้องด้านล่างซ้าย หรืออาจเกิดได้ในตำแหน่งอื่นๆ โดยความรุนแรง และตำแหน่งของการปวดจะแตกต่างกันในแต่ละคน บางคนเป็นรุนแรงขึ้น เมื่อเครียดหรือรับประทานอาหารบางอย่าง บางคนปวดมากขึ้นระหว่างมีรอบเดือน บางคนอาการดีขึ้นเมื่อได้ขับถ่าย

5. อาการของทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น ท้องเสียสลับท้องผูก อืดเฟ้อ ลมมาก เรอ แน่นแสบหน้าอก กลืนลำบาก อิ่มเร็ว หรือคลื่นไส้

6. อาการอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาการกลุ่มของทางเดินอาหาร เช่น อยากปัสสาวะบ่อย ปวดประจำเดือน หรือมีปัญหาทางเพศ

วิธีรักษาโรคลำไส้แปรปรวน อาการปวดในเบื้องต้น

      อย่างที่เราทราบกันไปแล้วว่า โรคนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด สามารถเกิดได้เป็นครั้งคราว แต่ก็มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ลำไส้แปรปรวนวิธีรักษาที่ง่ายที่สุดคืออย่ากลั้นอุจจาระ เมื่อรู้สึกปวดให้รีบเข้าห้องน้ำทันที จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็งได้บ้างในเบื้องต้น จากนั้นปรับพฤติกรรมบางอย่าง ดังต่อไปนี้

      1. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

      2. หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรืออาหารที่ย่อยยาก เช่น กลุ่มของเนื้อ อาหารทอด ผักบางชนิด เป็นต้น

      3. นอนหลับพักผ่อนให้ครบ 8 ชั่วโมง

      4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้การทำงานของระบบลำไส้ทำงานได้ดีมากขึ้น

      5. การรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ ซึ่งลำไส้แปรปรวน อาการในแต่ละคนไม่เหมือนกัน รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังนั้นการสั่งยาตามอาการของแพทย์ เป็นวิธีการรักษาในเบื้องต้น และจะต้องมีการตรวจติดตามผลภายหลังอีกด้วย

      สิ่งสำคัญคือ โรคลำไส้แปรปรวนเป็นภาวะที่สามารถจัดการได้ ด้วยการดูแลเรื่องการรับประทานอาหารและการปฏิบัติตนที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์  ดังนั้นหากพบอาการผิดปกติ ไม่ควรละเลย ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรับการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *